top of page
ค้นหา

Starfish Education ร่วมนำเสนอผลการวิจัย เวทีประชุมนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาวิชาชีพครู ประจำปี พ.ศ. 2567

สำนักงาน ก.ค.ศ. กระทรวงศึกษาธิการจัดการประชุมนานาชาติ ว่าด้วยการพัฒนาวิชาชีพครู ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 The OTEPC International Forum on Teaching Profession Development 2024 ในหัวข้อ “ภาวะผู้นำร่วม: กุญแจสู่ความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้แห่งอนาคต (Collective Leadership : The Key to Success in Future Schooling ) ในวันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น. - 16.00 น. ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

การประชุมนานาชาติครั้งนี้ มีรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ได้แก่ การบรรยายพิเศษ วงเสวนา และการนำเสนองานวิชาการ โดยนักวิชาการศึกษาจากนานาประเทศ อาทิ นิวซีแลนด์ ไต้หวัน แคนาดา ลาว มาเลเซีย ฯลฯ 


เริ่มต้นด้วย กิจกรรมพิธีเปิด (Opening Ceremony) โดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวเปิดงานโดยมีใจความสำคัญว่า “การเป็นผู้นำร่วมมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเรากำลังเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ในการจัดการศึกษา ดังนั้น การมีภาวะผู้นำที่มีทัศนคติที่ดี ยืดหยุ่น สามารถปรับตัว เพื่อยอมรับการเปลี่ยนแปลงจึงมีความสำคัญมาก การศึกษาไทยต้องการความร่วมมือจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์จากหลายภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษาไปสู่ความเป็นเลิศและความมั่นคงของชีวิต 

ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นการให้ความสำคัญเกี่ยวกับความเป็นผู้นำร่วม ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ และเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้บริหาร คุณครู ในการนำหลักการและแนวคิดความเป็นผู้นำร่วมไปปรับใช้กับการพัฒนาโรงเรียนของท่านต่อไป” 


ถัดมารศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ.ได้กล่าวเพิ่มเติมในพิธีเปิดว่า “ความเป็นผู้นำร่วมคือการนำความเชี่ยวชาญที่หลากหลายที่มีหลากหลายแนวคิดมาหลอมรวม เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียนในยุคปัจจุบันให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข” 


บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยการแลกเปลี่ยนองค์กรความรู้จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้านที่เดินทางมากจากหลากหลายประเทศ โดยมีหัวข้อและสรุปสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้


1) หัวข้อ พลังของการเป็นผู้นำร่วมในการเอาชนะความท้าทายและความไม่แน่นอนทางการศึกษา (The Powerful of Collective Leadership on Overcoming Educational Challenges and Uncertainties โดย Prof. Pan Hui Ling Wendy, Tamkang University, Taiwan (R.O.C) 


ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญได้ว่า “โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และได้สร้างความท้าทายใหม่ให้แก่ผู้นำทางด้านการศึกษา ดังนั้น พลังของการเป็นผู้นำร่วมจะช่วยให้พวกเราสามารถผ่านความท้าทายนี้ไปได้ ซึ่งวิธีการเป็นผู้นำร่วม ไม่ได้หมายถึงการเป็นผู้นำเพียงคนเดียว แต่คือการใช้ศักยภาพของพวกเราทุกคนมาช่วยกันพัฒนาการศึกษาไทย ซึ่งหลักการของการเป็นผู้นำร่วม ได้แก่

1) การเป็นผู้นำร่วม (Collective Leadership)

2) การเป็นผู้นำที่แบ่งปันกัน (Shared Leadership)

3) การเป็นผู้นำที่กระจายอำนาจ (Districuted Leadership) เพื่อสร้างให้นักเรียนเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต”  


2) หัวข้อ เชื่อมโยงการประเมินผลนักเรียนและประสิทธิภาพของผู้สอน: เครื่องมือที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงสำหรับการพัฒนาทักษะแห่งอนาคตในครูและผู้นำสถานศึกษา (Bridging Student Assessment and Educator Performance: Authentic Tools Developing Future Skills in Teachers and School Leaders) โดย ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Starfish Education 


ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญได้ว่า “Starfish Class คือเครื่องมือประเมินทักษะและสมรรถนะนักเรียน ที่จะช่วยให้คุณครูเห็นคุณภาพในการจัดการเรียนการสอนของตัวเอง ซึ่งการประเมินแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ คุณครูประเมินนักเรียน คุณครูประเมินตัวเอง และคณะกรรมการประเมินครู นอกจากนี้ ผู้บริหารก็จะต้องประเมินตัวเองได้ด้วย คุณครูสามารถใช้ Starfish Class มาประเมินควบคู่กับการประเมินวิทยฐานะ หรือ วPA ได้ด้วย สิ่งที่พบเจอระหว่างการวิจัย คุณครูได้เห็นวิธีการจัดการเรียนการสอนของตัวเอง และสามารถที่จะพัฒนาตัวเองต่อไปได้ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องการพัฒนาต่อไป คือ การพัฒนา Starfish Class ให้ตอบโจทย์การพัฒนาวิชาชีพ PA ได้จริง เพื่อช่วยเหลือคุณครูที่ทุ่มเททำงานเพื่อเด็กๆ ได้ต่อไป” 

3) หัวข้อ “Collective Leadership: The Key to Success in Future Schooling” โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายประเทศ ได้แก่

1) Prof. Darren Bryant, Curtin University, Australia

2) Assoc. Prof. Qian Haiyan, The Chinese University of Hong Kong, Hong Kong

3) Mr. Scott Haines, Burnside State High School, New Zealand

4) Mrs. Hajah Ratnawati Binti Haji Mohammad, Model Inclusive School/Keriam Primary School, Brunei Darussalam ดำเนินรายการโดย รศ. ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียนมหาวิทยาลัยขอนแก่น


ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญโดยรวมได้ว่า “ทุกคนเห็นความสำคัญของความเป็นผู้นำร่วม หมายถึงการกระจายอำนาจให้แก่บุคลากรทุกคนในโรงเรียนได้มีอำนาจในการตัดสินใจ ได้มีการลงแรงทำร่วมกัน หรือนอกจากโรงเรียนของเราดีแล้ว เราจะทำอย่างไรให้ทุกโรงเรียนดีขึ้นเรื่อยๆ เกิดเครือข่ายที่แข็งแรงอย่างแท้จริง (Educational Infrastructure) เพื่อการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนที่หลากหลาย” 


นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอข้อมูลจากนักวิชาการจากนานาประเทศ ในประเด็น “บทบาทของการเป็นผู้นำร่วมในการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษที่ 21” (The Roles of Collective Leadership in Supporting Educational Reformation for the 21th Century Education) โดยผู้เชี่ยวชาศจากหลากหลายประเทศ ทั้งประเทศไทย แคนาดา ลาว และมาเลเซีย  


ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญโดยรวมได้ว่า “การทำงานร่วมกันเป็นทีม การเป็นผู้นำร่วม จะสามารถพาโรงเรียนไปสู่ความสำเร็จได้ ตัวอย่างการสร้างทีมที่เป็นรูปธรรม เช่น ทีมความปลอดภัย ทีมนานาชาติ ทีมการศึกษาพิเศษ หรือแม้แต่การทำกระบวนการพัฒนาวิชาชีพ (PLC) ที่จะช่วยให้คุณครูเกิดความเป็นเจ้าของ ดังนั้น หน้าที่ของผู้นำ คือ การแบ่งปันความรับผิดชอบไปสู่คนที่เกี่ยวข้องในโรงเรียน เพราะภาวะความเป็นผู้นำร่วมไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่ง แต่เป็นพฤติกรรมที่จะช่วยสร้างพลังให้แก่ทุกคนสามารถเป็นผู้นำในแบบของตัวเองได้” 


จะเห็นได้ว่าเวทีประชุมนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาวิชาชีพครู ประจำปี พ.ศ. 2567 มีองค์ความรู้มากมายที่จะให้คุณครู หรือผู้บริหารทุกท่านนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาโรงเรียนของตนเอง ซึ่งสามารถเข้าไปรับชมย้อนหลังได้ที่ Facebook และ YouTube OTEPCofficial, Starfishlabz, ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก



ดู 6 ครั้ง

Comments


bottom of page